เมนู

วิเคราะห์ศัพท์ว่า กุศล และธรรม



พึงทราบความหมายของคำว่า กุศล เป็นต้นในที่นี้.
สภาวะที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ยังปาปกธรรมอันบัณฑิตเกลียด
ให้ไหว ให้เคลื่อนไป ให้หวั่นไหว คือให้พินาศ. อีกอย่างหนึ่ง สภาวธรรม
ใด ย่อมผูกพันโดยอาการที่บัณฑิตเกลียด สภาวธรรมนั้น ชื่อว่า กุสะ ธรรม
ที่ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมถอนขึ้น คือย่อมตัดกุสะ กล่าวคืออกุศล
เหล่านั้น. อีกอย่างหนึ่ง ญาณ ชื่อว่า กุสะ เพราะทำอกุศลอันบัณฑิตเกลียด
ให้สิ้นสุด หรือเบาบาง. อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า อันญาณ
ชื่อกุสะนั้นพึงตัด คือ พึงถือเอา พึงให้เป็นไปทั่วด้วยกุสญาณนั้น. อีกอย่างหนึ่ง
ชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ธรรมแม้เหล่านี้ ย่อมตัดส่วนสังกิเลสที่ถึงส่วน
ทั้งสอง คือ ที่เกิดขึ้นแล้วและยังไม่เกิด เหมือนหญ้าคาย่อมบาดส่วนแห่งมือ
ที่ลูบคมหญ้าทั้งสอง เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า กุศล เพราะอรรถว่า ย่อมตัด
คือ ย่อมทำลายอกุศลเหมือนหญ้าคา ฉะนั้น.
ส่วนภาวะที่ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า ย่อมทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน.
อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า อันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้หรือว่า
ย่อมทรงไว้ตามสภาวะ ธรรมที่ชื่อว่า อกุศล เพราะอรรถว่า ไม่ใช่กุศล.
อธิบายว่า ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกุศล เหมือนอมิตรเป็นปฏิปักษ์ต่อมิตร
อโลภะเป็นต้นเป็นปฏิปักษ์ต่อโลภะเป็นต้น. ธรรมที่ชื่อว่า อัพยากตะ เพราะ
อรรถว่า ไม่กระทำให้แจ้ง อธิบายว่า ท่านไม่กล่าวไว้โดยความเป็นกุศลและ
อกุศล. ในบรรดาธรรมทั้งสามนั้น กุศลมีความไม่มีโทษและมีวิบากเป็นสุข
เป็นลักษณะ. อกุศลมีโทษและมีทุกข์เป็นวิบากเป็นลักษณะ อัพยากตะมีอวิบาก
เป็นลักษณะ.